วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

เกษตรกรผู้ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (3)


เนื่องจากภรรยาและบุตรสาวมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถเข้ามาช่วยเหลือกิจการในชุมชนและถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนแทนนายวินัยได้ ทุกครั้งที่นายวินัยได้รับความรู้อะไรมาก็จะกลับมาถ่ายทอดให้ภรรยาและบุตรสาวได้ฟังเสมอ การแบ่งปันเกื้อกูลสังคม ได้รับคำยืนยันจากนายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้าน ว่านายวินัย เป็นบุคคลตัวอย่างของชุมชนที่ทำให้ชุมชนหันมาอยู่อย่างพอเพียง สามารถพึ่งตนเองได้ ลดการซื้อสินค้าจากภายนอก นายวินัยได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า พืชป่าทุกชนิดที่ปลูกจะเข้าหลักปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยมีหลักการว่ากินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ทำเท่าที่ทำได้ ตามแรงงานสองคนสามีภรรยาและมีความเห็นว่าการปลูกป่าจะช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อนได้ นอกจากนี้ไม่มีการขยายหรือสะสมพื้นที่เพิ่มเติม แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด และเห็นว่า สิ่งเดียวที่สะสมคือ ความรู้ความเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมไทย ได้สร้างวัฒนธรรม ให้ชาวบ้านนำปิ่นโตอาหารมารับประทานร่วมกัน มีการรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์   จัดประกวดกระทงที่ทำจากธรรมชาติในวันลอยกระทง ทำบุญตักบาตร ไปฟังเทศน์ ฟังธรรม
ในวันพระ ทำเป็นตัวอย่างเรื่องของการไหว้ทั้งผู้สูงอายุและรุ่นราวคราวเดียวกัน
ภายหลังจากที่ตนเองและครอบครัวสามารถปลดหนี้ได้ นายวินัยหันมามองเพื่อนบ้าน อยากให้คนรอบข้างของตนเองคิดได้ หลุดพ้นจากภาวะความยากจน ได้สร้างเวทีการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาซึ่งกันและกัน โดยใช้ธนาคารชุมชนเป็นเวทีกลางในการพบปะ ในทุกวันที่ 20 ของเดือน ทำกันมาเกือบ 3 ปี ในวันที่นัดพบกันจะมีตลาดนัดชุมชน ชาวบ้านจะนำสินค้าชุมชน เช่น ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น เช่น หน่อไม้ มาขายและแลกเปลี่ยนกัน ปัจจุบันชุมชนบ้านหลุมมะขาม มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนเดือนละ 4 วัน คือ ทุกวันที่ 1 ของเดือนเป็นเวทีกองทุนหมู่บ้าน ทุกวันที่ 10 ของเดือนเป็นเวทีสายใยรักครอบครัว ทุกวันที่ 20 ของเดือนเป็นเวทีธนาคารชุมชน ทุกวันที่ 24 ของเดือนเป็นเวทีสัญจรรับฟังปัญหาชาวบ้าน ส่วนวิธีการถ่ายทอดเน้นการถ่ายทอดโดยการเล่าให้ฟัง ให้สังเกตด้วยตนเอง ให้ซักถามเมื่อมีข้อสงสัย และทดลองด้วยตนเอง ไม่เน้นการถ่ายทอดโดยการบอกให้ทำ สามารถสร้างเครือข่ายป่าชุมชนไปสู่ระดับภาค เป็นที่รู้จักและยอมรับโดยทั่วไป ผลจากการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้นายวินัยปลดหนี้ 100,000 บาท ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันครอบครัวมีรายได้ 100,000 บาทต่อปี ครอบครัวมีความอบอุ่น โดยสามารถนำครอบครัว ของบุตรกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้ง ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ตลอดจนได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง และเอื้อเฟื้อต่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง ได้พลิกชีวิตใหม่ในการเปลี่ยนแปลงตนเองการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ หลุดพ้นกระแสทุน และพบว่า ความสุขที่แท้จริงของชีวิตคือความพอเพียง นายวินัยมีความฝันอยากเห็นชุมชนหลุดพ้นวงจรความยากจนและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง
สรุป แนวทางการดำเนินชีวิตของนายวินัย สุวรรณไตร เป็นแบบอย่างของผู้ที่นำพุทธธรรมและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาพลิกผันการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ สร้างประโยชน์สุขทั้งในการดำรงชีวิตของตนเอง ครอบครัว และสังคม ด้วยการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง มีสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นที่ถูกต้อง ละเลิกอบายมุข และยึดหลักคุณธรรมสังคหวัตถุ 4 คือ เป็นผู้ที่รู้จักแบ่งปันเกื้อกูลช่วยเหลือ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชน เป็นผู้ที่มีปิยวาจา สุภาพอ่อนโยน เป็นที่ยอมรับนับถือ เป็นแบบอย่างของชุมชน ทำให้พบความสุขที่แท้จริงของชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น