วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

สัมมาทิฏฐิที่ 4 ความเห็นเกี่ยวกับผลของกรรมดี และกรรมชั่วที่บุคคลทำไปแล้ว


สัมมาทิฏฐิที่ 4 ความเห็นเกี่ยวกับผลของกรรมดี และกรรมชั่วที่บุคคลทำไปแล้ว
กรรมดี หมายถึงการกระทำที่ดีงาม เหมาะสมไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่มีบาป เช่น
การทำทาน การสงเคราะห์ผู้คนในสังคม การยกย่องบูชาคนดี เป็นต้น
กรรมชั่ว หมายถึงการกระทำที่ผิดศีล ผิดธรรม เช่น การฆ่าสัตว์ การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น การใส่ร้ายผู้อื่น เป็นต้น กรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดบาปทั้งสิ้น
กฎแห่งกรรม
กฎแห่งกรรม คือ ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว ดังธรรมภาษิตว่า
บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
จากธรรมภาษิตนี้ มีสาระสำคัญอาจแยกออกได้ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. ผู้ใดทำกรรมดี หรือชั่ว ย่อมได้รับผลของกรรมเหล่านั้นด้วยตนเอง
2. ผู้ใดทำดี จะได้ผลดี
3. ผู้ใดทำชั่ว จะได้ผลชั่ว
4. ผลของกรรมเปรียบเทียบได้กับการออกผลของพืช กล่าวคือ เมื่อปลูกพืชใด จะได้เก็บผลของพืชชนิดนั้น
จากสาระสำคัญ ทั้ง 4 ประเด็นของธรรมภาษิต แสดงว่า กฎแห่งกรรม เป็นกฎแห่งเหตุและผลที่เข้าใจได้ง่าย เพราะทุกคนสามารถไตร่ตรองได้จากประสบการณ์ในชีวิตจริงของตนเอง เช่น     นักเรียนที่ไม่รู้จักหน้าที่เกียจคร้านไม่ยอมเรียนหนังสือทำตัวเป็นนักเลง ทะเลาะวิวาท ย่อมไร้อนาคต ทำลายครอบครัวและสังคม บางคนที่ดื่มสุราจนเมามายย่อมควบคุมสติไม่อยู่ย่อมทำกรรมชั่วได้ทุกเรื่อง
เนื่องจากการกระทำของผู้คนโดยทั่วไป มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่วปะปนกันไปในแต่ละวัน การกระทำกรรมดีและกรรมชั่วของคนเรานั้น มิได้ทำกันเพียงแค่ครั้งเดียวแต่ทำกันบ่อยๆ จึงทำให้
การออกผลของกรรมมีความสลับซับซ้อนมาก จึงดูเหมือนว่าการออกผลของกรรม
มิได้สอดคล้องกับธรรมภาษิตดังกล่าว เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้มีผู้คนสงสัยเรื่องกฎแห่งกรรมอยู่เสมอ

กาลเวลาแห่งการให้ผลของกรรม
เกี่ยวกับความสลับซับซ้อนในเรื่องการออกผลของกรรม ทางพระพุทธศาสนามีคำอธิบาย ซึ่งสามารถสรุปได้ว่ากาลเวลาแห่งการให้ผลของกรรมแต่ละครั้งที่กระทำ มี3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1   กรรมที่ให้ผลในชาตินี้
ระยะที่ 2   กรรมที่ให้ผลในชาติหน้าถัดจากชาตินี้ไป
ระยะที่ 3   กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆไป ไม่มีกำหนดจนกว่าจะหมดกิเลสบรรลุพระนิพพาน
จากเรื่องกาลเวลาแห่งการให้ผลของกรรม แสดงให้เห็นว่า โลกหน้ามี ตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังมีกิเลสจะต้องไปเกิดอีก ส่วนว่าจะไปเกิดเป็นอะไรอยู่ที่ไหน กรรมของตนจะจัดสรรให้เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น