วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

การบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต


การบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต เริ่มจากการพัฒนาศรัทธาและปัญญา ดังนี้
1. ถ้าต้องการมีชีวิตที่สมบูรณ์แล้ว เริ่มต้นประการแรกควรฝึกฝนอบรมจิตใจตนเองให้มีความเห็นถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฎฐิ เพราะการมีความเห็นถูกต้อง หมายถึง การที่เราไม่คิดถึงสิ่งใดด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าต้องให้ได้อย่างใจ ไม่คิดด้วยความถูกใจ แต่ต้องคิดด้วยความถูกต้อง
2. ต้องศึกษาเรื่องชีวิตและองค์ประกอบของชีวิต ต้องถามตนเองว่า ชีวิตคืออะไร ก็จะมีคำตอบหลากหลาย แต่ขอให้เข้าใจร่วมกันว่าชีวิต คือ องค์ประกอบของรูปและนามที่ปรุงแต่ง ตามเหตุปัจจัยจนเกิดความงอกงามขึ้นภายในใจ สามารถพัฒนาจิตใจให้ลดละความชั่วได้ด้วยการทำหน้าที่ให้ถูกต้อง
หน้าที่ทางกาย   คือ  กินอาหารให้ถูกส่วน รักษากายนี้ให้แข็งแรงสุขภาพดี
หน้าที่ทางจิต      คือ  รักษาจิตที่รู้จำ รู้คิด ในสิ่งที่ถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น
3. ต้องศึกษากฎของธรรมชาติหรือกฎแห่งเหตุและผล ได้แก่ ลักษณะอันเป็นธรรมดา
3 ประการ ได้แก่
อนิจจัง      ความไม่เที่ยง ความปรวนแปรเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง
ทุกขัง        ความทนได้ยาก ไม่คงสภาพของสรรพสิ่ง
อนัตตตา    ความไม่ใช่ตัวตนถาวร ให้รู้ว่าทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตนแท้จริง
ทุกสิ่งเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น บุคคลต้องศึกษากฎของธรรมชาติ มีสติ สมาธิตั้งมั่นทุกขณะ ทุกอิริยาบถของตนเอง เพื่อจะได้เกิดปัญญารู้ชัดในสิ่งที่มากระทบกาย กระทบจิตของเราในทุกเรื่อง เพื่อที่จะได้รักษาจิตให้ปกติไม่หวั่นไหวไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยนั้น ๆ
4. ควรจะอบรมจิต ด้วยการภาวนา ทำให้จิตเจริญขึ้น รู้ทันต่อความทุกข์ที่มากระทบกาย กระทบใจของตน ให้รู้เท่าทันว่า ตาทำหน้าที่เห็นรูป หูทำหน้าที่ได้ยินเสียง จมูกทำหน้าที่รับกลิ่น
ลิ้นทำหน้าที่ลิ้มรส กายทำหน้าที่สัมผัส ใจเพียงรับรู้ความรู้สึก แล้วหยุดไว้แค่นั้น ไม่คิดปรุงแต่ง
เป็นอารมณ์ให้วุ่นวายใจ รับรู้สิ่งมากระทบแล้ว พิจารณาว่าสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงเกิดและดับไปอย่างไร
มีจิตอยู่กับปัจจุบัน ถ้าทำได้ดังนี้ถือได้ว่าเป็นผู้รู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต มองทุกสิ่งได้ถูกต้องตามความเป็นจริง อันเป็นหนทางลดละความทุกข์ในชีวิตได้ด้วยปัญญา ที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม
วิธีการพัฒนาศรัทธา และปัญญา 4 ขั้นตอนนี้ จะทำได้เมื่อผู้ปฏิบัติได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีจิตเห็นถูกต้อง รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นสิ่งก่อให้เกิดทุกข์ แก่ตนและผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นคนดี สร้างสันติสุขแก่ตนเองและสังคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระราชทาน หลักการดำเนินชีวิตในการทำความดีไว้ดังนี้1
การทำดีนั้นยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะ
หาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้น  อย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว
....

____________________
1ศูนย์ส่งเสริมเงินออมครอบครัว กรุงเทพมหานคร. ชีวิตพอเพียงตามแนวพระราชดำริ. www.bma.go.th/save/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น